ผู้เขียน

ดูทั้งหมด

บทความ โดย Bill Crowder

ใจที่โกรธเคือง

เกอร์นิกา เป็นภาพเขียนทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของปาโบล ปิกัสโซ่ที่ใช้เทคนิคการวาดแบบสมัยใหม่ซึ่งบอกเล่าถึงการทำลายเมืองเล็กๆในสเปนในปี ค.ศ. 1937 โดยตั้งชื่อผลงานตามชื่อเมืองนี้ ในช่วงปฏิวัติสเปนและการก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินนาซีเยอรมนีได้รับอนุญาตจากกองกำลังชาตินิยมสเปนให้ใช้เมืองนี้เพื่อฝึกซ้อมการทิ้งระเบิด การทิ้งระเบิดหลายครั้งได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และดึงความสนใจของประชาคมโลกที่กังวลในเรื่องการทิ้งระเบิดโจมตีพลเรือนอย่างผิดศีลธรรม ภาพเขียนของปิกัสโซ่สื่อให้เห็นถึงสิ่งที่โลกกำลังจับตาดูอยู่ และกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการถกประเด็นถึงศักยภาพของมนุษยชาติในการทำลายล้างกันและกัน

สำหรับพวกเราที่มั่นใจว่าจะไม่มีทางเจตนาทำให้โลหิตตก เราควรจดจำคำตรัสของพระเยซูว่า “‘ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า อย่าฆ่าคน ถ้าผู้ใดฆ่าคน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดโกรธพี่น้องของตน ผู้นั้นจะต้องถูกพิพากษาลงโทษ” (มธ.5:21-22) จิตใจนั้นสามารถฆ่าคนได้แม้ไม่เคยลงมือทำจริงๆ

เมื่อความโกรธที่เรามีต่อผู้อื่นพลุ่งขึ้นและพยายามครอบงำเรานั้น เราจำเป็นต้องให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เข้ามาเติมเต็มและควบคุมจิตใจเรา เพื่อว่านิสัยต่างๆของมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยผลของพระวิญญาณ (กท.5:19-23) แล้วความรัก ความปลาบปลื้มใจ และสันติสุขจะเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความสัมพันธ์ของเรา

สร้างบ้าน

โครงการก่อสร้างบ้านส่วนตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐเริ่มต้นขึ้นในปี 1889 มีการผลิตอิฐในพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 32,000 ก้อนต่อวัน งานยังคงดำเนินไปจน “บ้านฤดูร้อน” ของจอร์จ แวนเดอร์บิลต์ที่ 2 เสร็จสิ้นในอีกหกปีต่อมา นั่นคือคฤหาสน์บิลต์มอร์ในเมืองแอชวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ในปัจจุบันบ้านนี้ยังคงเป็นที่พักอาศัยส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาด้วยจำนวน 250 ห้อง (รวมห้องนอน 35 ห้องและห้องน้ำ 43 ห้อง) ซึ่งกินพื้นที่อย่างน่าตกตะลึงถึง 178,926 ตารางฟุต (16,226 ตารางเมตร)

โครงการนี้ซึ่งยิ่งใหญ่อย่างที่มันเป็น แต่ยังเทียบไม่ได้กับพระประสงค์ในการสร้าง “ตึก” ที่พระเยซูตรัสกับสาวกในมัทธิว 16 เมื่อเปโตรยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็น “พระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” (ข้อ 16) พระองค์ตรัสว่า “ฝ่ายเราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้” (ข้อ 18) ขณะที่นักศาสนศาสตร์ถกเถียงถึงความหมายของ “ศิลา” แต่ไม่มีการถกเถียงเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเยซู พระองค์จะสร้างคริสตจักรของพระองค์ให้ขยายไปยังสุดปลายแผ่นดินโลก (มธ.28:19-20) ไปยังชนทุกชาติ ทุกเชื้อสายจากทั่วโลก (วว.5:9)

ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับโครงการนี้คือ พระโลหิตของพระเยซูที่สละลงบนกางเขน (กจ.20:28) เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ตึก” นั้น (อฟ.2:21) ซึ่งพระองค์ได้ทรงจ่ายด้วยราคาที่สูงยิ่ง ขอให้เราเฉลิมฉลองการทรงเสียสละด้วยความรักและร่วมกับพระองค์ในพันธกิจอันยิ่งใหญ่นี้

จุดลงจอด

อิมพาลาเป็นสัตว์ในตระกูลละมั่งที่สามารถกระโดดได้สูงถึงสิบฟุตและไกลถึงสามสิบฟุต ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อและไม่ต้องสงสัยเลยว่าความสามารถนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่มันจะเอาชีวิตรอดในป่าแอฟริกา แต่ที่คอกอิมพาลาในสวนสัตว์หลายแห่ง คุณจะพบว่าสัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่ภายในกำแพงที่สูงเพียงสามฟุต แล้วกำแพงเตี้ยๆเช่นนี้สามารถกั้นสัตว์ที่แข็งแรงเหล่านี้ไม่ให้ออกมาได้อย่างไร ที่เป็นไปได้เพราะอิมพาลาจะไม่มีวันกระโดดออกมานอกจากพวกมันจะเห็นจุดที่จะรองรับมัน แต่กำแพงได้กั้นพวกมันไว้ไม่ให้เห็นว่าอีกด้านหนึ่งคืออะไร

ในฐานะมนุษย์ เราก็ไม่ต่างอะไรจากอิมพาลา เราต้องการรู้ผลลัพธ์ก่อนที่จะก้าวออกไป แต่การดำเนินชีวิตโดยความเชื่อไม่ได้เป็นเช่นนั้น เปาโลเขียนถึงคริสตจักรที่เมืองโครินธ์ โดยเตือนพวกเขาว่า “เราดำเนินโดยความเชื่อ มิใช่ตามที่ตามองเห็น” (2 คร.5:7)

พระเยซูทรงสอนเราให้อธิษฐานว่า “ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” (มธ.6:10) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้ผลลัพธ์ของพระองค์ล่วงหน้า การดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อหมายถึง การวางใจในพระประสงค์อันดีของพระองค์แม้พระประสงค์เหล่านั้นจะซ่อนอยู่ในความลึกลับก็ตาม

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของชีวิต เราสามารถวางใจในความรักที่ไม่มีวันสูญสิ้นของพระองค์ ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาในชีวิต “เราตั้งเป้าของเราว่า...จะทำตัวให้เป็นที่พอพระทัยของพระองค์” (2 คร.5:9)

วิญญาณที่ยอมรับการสอน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การโจมตีความคิดเห็นของผู้อื่นรวมไปถึงตัวบุคคลที่แสดงความคิดเห็นได้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ไปแล้ว สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นในแวดวงวิชาการด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงตกใจเมื่อนักวิชาการและนักศาสนศาสตร์ ริชาร์ด บี.เฮส์ เขียนบทความโต้แย้งอย่างรุนแรงต่องานเขียนของตัวเองเมื่อหลายปีก่อน! ในหนังสือ อ่านด้วยความเข้าใจพระวจนะอันน้อยนิด เฮส์แสดงออกถึงความถ่อมใจอย่างยิ่งเมื่อเขาแก้ไขความคิดของตนในอดีต ซึ่งตอนนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนโดยความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในบทนำของพระธรรมสุภาษิต กษัตริย์ซาโลมอนได้เขียนเจตจำนงต่างๆ ของถ้อยคำแห่งปัญญาที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ แต่ท่ามกลางวัตถุประสงค์เหล่านั้น พระองค์ได้แทรกคำท้าทายว่า “ทั้งปราชญ์จะได้ยินและเพิ่มพูนการเรียนรู้ และคนที่มีความเข้าใจจะได้ความช่ำชอง” (สภษ.1:5) เช่นเดียวกับที่อัครทูตเปาโลได้กล่าวอ้างว่า แม้ท่านจะติดตามพระคริสต์มาหลายสิบปีแล้ว แต่ท่านก็ยังคงต้องการจะรู้จักพระเยซู (ฟป.3:10) ซาโลมอนกระตุ้นปราชญ์ให้รับฟัง เรียนรู้ และเติบโตต่อไป

ไม่มีใครเคยบาดเจ็บจากการมีวิญญาณที่ยอมรับการสอน ขณะเราแสวงหาที่จะเติบโตและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของความเชื่อ (และเรื่องต่างๆในชีวิต) ต่อไป จงยอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์นำเราไปสู่ความจริง (ยน.16:13) เพื่อเราจะเข้าใจถึงความมหัศจรรย์ของพระเจ้าผู้ประเสริฐและยิ่งใหญ่ของเราได้ดีขึ้น

แยกเราไว้

ในเดือนพฤศจิกายนปี 1742 เกิดจลาจลขึ้นที่สแตฟฟอร์ดเชียร์ ประเทศอังกฤษ เพื่อคัดค้านข่าวประเสริฐที่ชาร์ลส์ เวสลีย์กำลังประกาศ ดูเหมือนว่าชาร์ลส์และจอห์นพี่ชายกำลังเปลี่ยนประเพณีบางอย่างของคริสตจักรที่มีมาช้านาน และนั่นมากเกินกว่าที่ชาวเมืองส่วนใหญ่จะรับได้

เมื่อจอห์นได้ยินเรื่องการจลาจล เขารีบไปสแตฟฟอร์ดเชียร์เพื่อจะช่วยน้องชาย ไม่นานนักฝูงชนที่คุมไม่อยู่ก็ได้ล้อมที่พักของจอห์น เขาเผชิญหน้ากับพวกผู้นำอย่างกล้าหาญ โดยเจรจากับพวกเขาอย่างสงบจนแต่ละคนคลายความโกรธลง

จิตวิญญาณที่อ่อนน้อมและสงบของจอห์นทำให้ฝูงชนที่มีแนวโน้มรุนแรงสงบลง แต่นั่นไม่ใช่ใจอ่อนน้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของเขา แต่เป็นหัวใจของพระผู้ช่วยให้รอดที่เวสลีย์ติดตามอย่างใกล้ชิด พระเยซูตรัสว่า “จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก” (มธ.11:29) แอกแห่งความอ่อนน้อมนี้กลายเป็นพลังที่แท้จริงเบื้องหลังคำท้าทายของอัครทูตเปาโลที่มีต่อเราว่า “จงมีใจถ่อมลงทุกอย่าง และใจอ่อนสุภาพอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” (อฟ.4:2)

ในความเป็นมนุษย์ของเรานั้นความอดทนเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ แต่โดยผลของพระวิญญาณที่อยู่ภายในเรา ความอ่อนน้อมแห่งพระทัยของพระคริสต์จะแยกเราไว้และเตรียมเราให้เผชิญกับโลกที่เป็นปรปักษ์นี้ได้ เมื่อเราทำเช่นนั้น เราก็ได้ทำให้ถ้อยคำของเปาโลเป็นจริงว่า “จงให้จิตใจที่อ่อนสุภาพของท่านประจักษ์แก่คนทั้งปวง” (ฟป.4:5)

พระเจ้าของเรายิ่งใหญ่!

ลายนิ้วมือถูกใช้เพื่อระบุตัวตนมนุษย์มานานแล้ว แต่ก็มีการคัดลอกเพื่อปลอมขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับรูปแบบม่านตาของคนเราที่ใช้เป็นเครื่องระบุตัวตนที่เชื่อถือได้ จนกระทั่งมีคนใช้คอนแทคเลนส์เพื่อเปลี่ยนรูปแบบของม่านตาทำให้ผลออกมาผิดเพี้ยน การใช้ลักษณะทางกายภาพเพื่อระบุตัวตนอาจถูกปลอมแปลงได้ แล้วอะไรคือคุณสมบัติที่จะใช้ระบุตัวตนที่มีเพียงหนึ่งเดียวได้ มนุษย์ทุกคนมีรูปแบบหลอดเลือดที่เป็นเอกลักษณ์และปลอมแปลงไม่ได้ “แผนผังเส้นเลือด” เฉพาะบุคคลคือสิ่งระบุตัวตนที่ไม่ซ้ำกับใคร ทำให้คุณแตกต่างจากมนุษย์คนอื่นบนโลกนี้

การใคร่ครวญถึงความซับซ้อนดังกล่าวของมนุษย์น่าจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจและการยกย่องในองค์พระผู้ทรงสร้างเรา ดาวิดเตือนเราว่าพระเจ้าทรงสร้างเราอย่าง “มหัศจรรย์และน่าครั่นคร้าม” (สดด.139:14 TNCV) และนี่จึงเป็นเหตุที่เราสมควรจะเฉลิมฉลอง ที่จริงแล้วสดุดี 111:2 บอกกับเราว่า “บรรดาพระราชกิจของพระเจ้าใหญ่ยิ่ง เป็นที่ค้นคว้าของทุกคนที่พอใจ”

สิ่งที่มีค่าคู่ควรกับความสนใจของเรายิ่งไปกว่านั้นคือ องค์พระผู้ทรงสร้าง ในขณะที่เราเฉลิมฉลองพระราชกิจอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เราต้องเฉลิมฉลองพระองค์ด้วย! พระราชกิจนั้นยิ่งใหญ่ แต่พระองค์ใหญ่ยิ่งกว่า ดังที่ผู้เขียนสดุดีอธิษฐานว่า “เพราะพระองค์ใหญ่ยิ่งและทรงกระทำการอัศจรรย์ พระองค์แต่องค์เดียวทรงเป็นพระเจ้า” (86:10)

วันนี้เมื่อเราใคร่ครวญถึงความยิ่งใหญ่แห่งพระราชกิจของพระเจ้า ให้เรายกย่องชื่นชมในความเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของพระองค์ด้วย

หัวใจสำคัญของการอธิษฐาน

เมื่ออับราฮัม ลินคอล์นขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เขามีภารกิจในการนำประเทศที่กำลังแตกแยก ลินคอล์นถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ฉลาดและมีคุณธรรม แต่มีอีกปัจจัยหนึ่งของภาพลักษณ์ภายนอกนี้ ซึ่งอาจเป็นที่มาของทุกอย่างคือ ลินคอล์นรู้ว่าเขาไม่มีความสามารถพอกับงานที่อยู่ตรงหน้า แล้วเขาตอบสนองอย่างไรกับความไม่ดีพอนั้น ลินคอล์นกล่าวว่า “ผมถูกผลักดันให้ต้องคุกเข่าลงหลายครั้งด้วยความแน่ใจอันท่วมท้นว่าผมไม่มีที่อื่นใดให้ไปอีกแล้ว สติปัญญาและทุกอย่างที่ผมมีดูเหมือนจะไม่เพียงพอสำหรับเวลานั้น”

เมื่อเรามาถึงจุดที่ตระหนักว่าปัญหาในชีวิตนั้นช่างหนักหนา และพบว่าสติปัญญา ความรู้หรือกำลังของเรานั้นจำกัดเหลือเกิน เราจะได้พบเหมือนกับลินคอล์นว่า เราต้องพึ่งพาพระเยซูในทุกทาง พระองค์ทรงไร้ซึ่งขีดจำกัดใดๆ เปโตรเตือนเราถึงการพึ่งพานี้เมื่อท่านเขียนว่า “จงละความกระวนกระวายของท่านไว้กับพระองค์ เพราะว่าพระองค์ทรงห่วงใยท่านทั้งหลาย” (1 ปต.5:7)

ความรักที่พระบิดาทรงมีต่อลูกๆของพระองค์ ผนวกเข้ากับฤทธิ์อำนาจที่ไร้ขีดจำกัดทำให้พระองค์เป็นผู้ทรงสมควรที่สุดที่เราจะเข้าไปหาพร้อมด้วยความอ่อนแอที่มี และนี่คือหัวใจสำคัญของการอธิษฐาน คือการที่เราเข้าหาพระเยซูโดยยอมรับต่อพระองค์ (และต่อตนเอง) ว่าเราไม่มีความสามารถพอ และพระองค์ทรงสามารถมากพอไปตลอดนิรันดร์กาล ลินคอล์นพูดว่าเขารู้สึกเหมือน “ไม่มีที่อื่นใดให้ไปอีกแล้ว” แต่เมื่อเราเริ่มเข้าใจถึงความห่วงใยที่พระเจ้าทรงมีต่อเราอย่างมากมาย นั่นก็เป็นข่าวดีที่ยอดเยี่ยม เราเข้าไปหาพระเจ้าได้!

ไม่ถูกลืม

เมื่อเราคิดถึงมิชชันนารีรุ่นบุกเบิกในประวัติศาสตร์ ชื่อของจอร์จ ไลเอล (1750-1820) มักไม่ผ่านเข้ามาในความคิด แต่บางทีเราควรคิดถึงเขา จอร์จเกิดมาเป็นทาส เขารู้จักพระคริสต์ที่รัฐจอร์เจียและได้รับอิสรภาพก่อนสงครามปฏิวัติอเมริกา เขานำข่าวประเสริฐไปที่ประเทศจาไมก้า ทำพันธกิจกับทาสในพื้นที่เพาะปลูกที่นั่น และรับใช้เป็นศิษยาภิบาลผู้ก่อตั้งคริสตจักรสองแห่งเพื่อชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่เมืองซาวานนาห์ รัฐจอร์เจีย หนึ่งในนั้นถูกเรียกว่า “คริสตจักรแม่ของชาวแบ๊บติสต์ผิวดำ”

อาจมีคนลืมชีวิตการรับใช้พระเจ้าอันโดดเด่นของจอร์จ แต่พระเจ้าไม่เคยทรงลืมการรับใช้ในฝ่ายวิญญาณของเขา และจะไม่ทรงลืมการงานที่คุณทำเพื่อพระองค์ด้วย จดหมายถึงชาวฮีบรูหนุนใจเราด้วยถ้อยคำเหล่านี้ “เพราะว่าพระเจ้าไม่ทรงอธรรม ที่จะทรงลืมการงานซึ่งท่านได้กระทำ เพราะความรักที่ท่านมีต่อพระนามของพระองค์ คือการรับใช้ธรรมิกชนนั้น ดังที่ท่านยังรับใช้อยู่” (6:10) ความสัตย์ซื่อของพระเจ้าไม่ควรถูกมองข้าม เพราะพระองค์ทรงทราบดีและทรงจดจำทุกสิ่งที่กระทำในพระนามของพระองค์ พระธรรมฮีบรูยังหนุนใจเราอีกว่า “ให้ตามเยี่ยงอย่างแห่งคนเหล่านั้นที่อาศัยความเชื่อและความเพียร จึงได้รับตามพระสัญญาเป็นมรดก” (ข้อ 12)

หากเรารับใช้อยู่เบื้องหลังในคริสตจักรหรือในชุมชน เป็นการง่ายที่เราจะรู้สึกว่าไม่ได้รับการชื่นชม อย่าท้อใจ เพราะไม่ว่าผู้คนรอบข้างจะจดจำหรือตอบแทนการงานของเราหรือไม่ แต่พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ พระองค์จะไม่มีวันลืมเรา

ความหวังที่แท้จริง

ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 สหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยความคาดหวังถึงอนาคตอันสดใส ประธานาธิบดีหนุ่มจอห์น เอฟ.เคนเนดี้ได้บุกเบิกดินแดนใหม่ ก่อตั้งกองกำลังอาสาสมัครเพื่อสันติภาพ และริเริ่มภารกิจพิชิตดวงจันทร์ เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูทำให้คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าอนาคตจะ “มีแต่ช่วงเวลาดีๆ” แต่ต่อมาสงครามเวียดนามทวีความรุนแรง ความไม่สงบในชาติเริ่มแผ่ขยาย เคนเนดี้ถูกลอบสังหาร และบรรทัดฐานทางสังคมที่คาดหวังไว้ก็ถูกทำลาย การมองโลกในแง่ดีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ และเมื่อความเป็นจริงนี้ปรากฏ ความสิ้นหวังก็ได้เข้าครอบงำ

ต่อมาในปี 1967 นักศาสนศาตร์เจอร์เกน มอลท์แมนชี้ให้เห็นมุมมองที่ชัดเจนกว่าในหนังสือศาสนศาสตร์แห่งความหวัง ของเขาว่า เส้นทางนี้ไม่ใช่ทางของการมองโลกในแง่ดีแต่เป็นทางแห่งความหวัง ทั้งสองทางนี้ไม่เหมือนกัน เขายืนยันว่าการมองโลกในแง่ดีขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ในขณะนั้น แต่ความหวังหยั่งรากอยู่ในความสัตย์ซื่อของพระเจ้า ไม่ว่าสถานการณ์ของเราจะเป็นเช่นไร

อะไรคือแหล่งกำเนิดของความหวังนี้ เปโตรเขียนว่า “สาธุการแด่พระเจ้าพระบิดาแห่งพระเยซูคริสตเจ้าของเรา ผู้ได้ทรงพระมหากรุณาแก่เรา ทรงโปรดให้เราบังเกิดใหม่เข้าสู่ความหวังใจอันมีชีวิตอยู่ โดยการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ (1 ปต.1:3) พระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อทรงมีชัยเหนือความตายโดยทางพระเยซูองค์พระบุตร! ความจริงแห่งชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนี้ยกชูเราไว้เหนือการมองโลกในแง่ดีไปสู่ความหวังที่มั่นคงแข็งแรง ในทุกวันและในทุกสถานการณ์

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา